Knowing Bahrain คุยกับทูตไทยประจำกรุงมานามา ทำความรู้จักประเทศที่เล็กที่สุดในตะวันออกกลาง
เรื่อง ภัทรียา พัวพงศกรภาพ มณีนุช บุญเรือง
ปีที่แล้ว The Cloud ไปตามรอยเส้นทางสายไหม
ไม่ใช่เส้นทางสายประวัติศาสตร์อันเลื่องชื่อ แต่เป็นผ้าไหมไทยที่ได้รับการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ THAI Textiles The Touch of Thai ใน 3 ประเทศตะวันออกกลาง อันเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรม
โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างแดนซึ่งมีผ้าไทยเป็นแกนหลักจัดอย่างสนุกสนาน ที่ประเทศบาห์เรน งานแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยประสบความสำเร็จมาก ถึงขั้นท่านนายกรัฐมนตรี เจ้าชาย Khalifa bin Salman Al Khalifa ทรงอนุญาตให้คณะทำงานชาวไทยไปจับพระหัตถ์ที่วังของพระองค์ ทั้งยังเสด็จมาเปิดงานด้วยพระองค์เอง
เพื่อทำความรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างบาห์เรนกับสยามให้ดียิ่งขึ้น ท่านเอกอัครราชทูตไทย ฐานิศร์ ณ สงขลา เปิดประตูสถานทูตไทยประจำกรุงมานามาให้เราเข้าไปเยี่ยมชม ทั้งยังแบ่งปันเรื่องราวของดินแดนเกาะเล็กๆ ในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นมิตรกับเมืองไทยตลอดมาให้เราได้ฟัง
ยินดีต้อนรับสู่บาห์เรน ดินแดนแห่งสองทะเล ณ บัดนี้
เล็กที่สุดในตะวันออกกลาง
ถ้าดูแผนที่ตะวันออกกลาง จะเห็นว่าราชอาณาจักรบาห์เรนเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในอ่าวเปอร์เซีย เป็นกลุ่มเกาะเล็กๆ ล้อมรอบด้วยประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และกาตาร์ ขนาดของประเทศนี้ใกล้เคียงกับจังหวัดนนทบุรี ความยาวราวเกาะภูเก็ต มีประชากรน้อยที่สุดในตะวันออกกลาง คือแค่ 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างชาติที่มาอยู่อาศัยและทำงานที่นี่
อากาศที่บาห์เรนร้อนจัด ชนิดที่ว่าช่วงหน้าร้อน กฎหมายกำหนดว่าการทำงานกลางแจ้งต้องทำหลัง 4 – 5 โมงเย็นเป็นต้นไป แต่เวลาหนาวก็ลงไปจนถึงเลขตัวเดียว เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเกาะล้อมด้วยทะเล บาห์เรนจึงมีฝนตกสม่ำเสมอ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างซาอุดีอาระเบียที่ฝนตกเพียงปีละ 2 – 3 ครั้ง
ด้านระบอบการปกครอง บาห์เรนเป็นราชาธิปไตยกึ่งรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรีจากราชวงศ์ Al Khalifa จุดเด่นของประเทศนี้คือความปรองดอง เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน ชาวบาห์เรนภูมิใจในสันติภาพ ยอมรับความแตกต่างของอิสลามนิกายอื่นและศาสนาอื่นๆ
ด้วยพื้นที่เล็กจิ๋ว น้ำมันจึงไม่ใช่คำตอบเศรษฐกิจเหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยมหาศาล รายได้ประชาชาติของบาห์เรนเป็นอันดับท้ายๆ ของกลุ่ม GCC (Gulf Cooperation Countries) รายได้ต่อหัวต่อคนตกปีละประมาณ 24,000 เหรียญสหรัฐฯ (แต่ก็ยังมากกว่าเมืองไทย ซึ่งน้อยกว่า 7,000 เหรียญสหรัฐฯ) จัดว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่ง และดำเนินเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ
เกาะแห่งการพบปะสังสรรค์
กลยุทธ์ของชาวบาห์เรน คือการเปิดประเทศเป็นศูนย์รวมการสังสรรค์พักผ่อนหย่อนใจ รายได้หลักของบาห์เรนมาจากการท่องเที่ยว สินค้าและบริการ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งจากประเทศแถบนี้และประเทศอื่นๆ ปีละประมาณ 12 ล้านคน เฉลี่ยประมาณเดือนละล้านคน ช่วงวันศุกร์และวันเสาร์ที่เป็นวันหยุดราชการของประเทศมุสลิม ชาวประเทศเพื่อนบ้านจะขับรถมาท่องเที่ยวจับจ่ายกันมากมาย
ที่นี่เป็นพหุสังคมเปิดกว้างของคนหลายเชื้อชาติศาสนา มีทั้งพื้นที่แยกชายหญิงสำหรับมุสลิมที่เคร่งครัด ไปจนถึงผับ บาร์ และสถานจัดเลี้ยงสำหรับศาสนิกชนอื่น บางคนบอกว่าประเทศนี้เปิดมากกว่าดูไบด้วยซ้ำ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ที่ดูไบอาจไม่มีเนื้อหมูขายหรือว่าขายอย่างจำกัด แต่ว่าที่นี่มีกระทั่งร้านหมูกระทะ ร้านคาราโอเกะเพลงไทย ผู้คนแต่งกายแบบตะวันตกได้ สุภาพสตรีก็ขับรถได้ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเพิ่งอนุญาตให้สุภาพสตรีขับรถเองเมื่อไม่กี่ปีนี้เท่านั้น
บาห์เรนเป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องคมนาคมและการสื่อสาร สนามบินนานาชาติบาห์เรนและสายการบิน Gulf Air เป็นสนามบินและสายการบินที่เก่าแก่ที่สุดในตะวันออกกลาง แต่ก่อนเวลาใครจะไปไหนมาไหนก็ต้องมาสนามบินบาห์เรน เปรียบเหมือนดอนเมืองเมื่อสมัย 30 ปีก่อนที่เป็นจุดเปลี่ยนเครื่องของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้บาห์เรนยังถมที่ขยายแผ่นดินไปเรื่อยๆ เพื่อตอบรับการเติบโตของบ้านเมือง
นโยบายของรัฐบาลคือทำให้ประเทศมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาทั้งฝ่ายภาครัฐและเอกชน ทำให้ประเทศมีคุณค่าด้วยการเป็นพื้นที่ติดต่อค้าขายระดับนานาชาติ บาห์เรนจึงจัดกิจกรรมสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการแข่งรถ Formula One จัดประชุม Global Entrepreneurship Conference ที่รวม SMEs กับสตาร์ทอัพมาคุยกัน เป็นจุดกระจายสินค้าไปจำหน่ายในซาอุดีอาระเบีย เพราะห่างกันเพียงข้ามสะพาน 24 กิโลเมตร นอกจากนี้การทำธุรกิจระหว่างประเทศก็สะดวกสบาย ถึงขั้นพูดกันว่าภายในหนึ่งวัน สามารถจดทะเบียน ตั้งบริษัท ได้รับใบอนุญาต แล้วก็ค้าขายในประเทศนี้ได้เลย
สัมพันธ์กับเมืองไทย
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างบาห์เรนและไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2520 หรือ 43 ปีที่แล้ว แต่สถานทูตไทยมาเปิดทำการใน พ.ศ.2547 ก่อนหน้านั้นผู้ดูแลสารทุกข์สุกดิบคนไทยในบาห์เรนคือสถานทูตไทยในคูเวต ซึ่งจะแวะเวียนมาดูแลช่วยเหลือคนไทยช่วงวันพฤหัสบดีเหมือนกงสุลสัญจร ก่อนวันศุกร์และวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ
ต่อมาคนไทยในบาห์เรนเพิ่มมากขึ้น มีการเรียกร้องว่าควรเปิดสถานทูตที่นี่ด้วย จึงยื่นหนังสือแลกเปลี่ยนว่าจะเปิดสัมพันธไมตรีระหว่างกันอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2547 โดยสถานทูตไทยในกรุงมานามามีบทบาทดูแลช่วยเหลือคนไทย ไม่ว่าเรื่องกฎหมาย เอกสาร และการจดทะเบียนต่างๆ
ปัจจุบันประเทศในตะวันออกกลางที่คนไทยอยู่เยอะที่สุดคือที่ซาอุดีอาระเบีย คาดการณ์ว่ามีชาวไทยอยู่ประมาณ 9,000 – 10,000 คน เป็นคนที่เคยทำงานในซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ประมาณ 30 ปีที่แล้ว มีครอบครัวหรือชาวไทยมุสลิมที่ไปแสวงบุญแล้วย้ายถิ่นฐาน ส่วนชาวไทยในบาห์เรนมีจำนวนรองลงมา ประมาณ 7,000 – 9,000 คน (ข้อมูลก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ระบาด) ใกล้เคียงกับที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งคนไทยอยู่อาศัยทั้งในดูไบและอาบูดาบี โดยชาวไทยในบาห์เรนประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น ทำร้านอาหารไทย สปา ร้านนวด ค้าขาย ฯลฯ
ในด้านภาพรวมความสัมพันธ์ บาห์เรนเป็นประเทศแรกในตะวันออกกลางที่คนไทยเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้ในอดีตคนไทยอพยพเข้ามาทำงานมากมาย ท่านทูตฐานิศร์เล่าว่า หลายคนสร้างครอบครัวที่นี่แล้วหลายรุ่น บางคนก็เกิดและโตที่นี่ เป็นเด็กที่พูดภาษาไทย อาหรับ และอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
“คนที่นี่เกือบร้อยละเก้าสิบรู้จักประเทศไทยหมดเลย คนบาห์เรนไปไทยประมาณสามถึงห้าหมื่นคนต่อปี สถาบันกษัตริย์ของเขาจนถึงประชาชนต่างชื่นชอบประเทศไทย ดังนั้นไทยกับบาห์เรนค่อนข้างจะใกล้ชิดกัน ท่านนายกรัฐมนตรี Khalifa bin Salman Al Khalifa ก็รักคนไทย ท่านไปไทยบ่อยมาก ทั้งเป็นการส่วนตัวและการเยือนอย่างเป็นทางการ บางทีท่านก็ไปเล่าให้กับคนอื่นๆ ฟังว่า ท่านเป็นคนแรกๆ ที่ไปไทย แล้วก็มาแนะนำว่าให้คนอาหรับไปไทย แม้กระทั่งบอกสายการบินด้วยซ้ำว่าสายการบินในตะวันออกกลางควรจะมีเที่ยวบินไปไทย เรียกว่าเราก็อยู่กันได้ค่อนข้างสบาย เพราะมาทำงานในประเทศที่เขารักเรามันก็ง่ายหน่อย ธุรกิจ กิจกรรมต่างๆ ก็ง่ายขึ้น
“ท่านเล่าให้ฟังตลอดว่าชอบเมืองไทยมาก และท่านก็เคารพราชวงศ์ไทยมาก อย่างตอนงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบหกสิบปีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็ไป ตอนพระราชพิธีพระบรมศพและพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ท่านก็ไป”
ผลลัพธ์จากความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บาห์เรนเปิดพื้นที่ให้สร้างศูนย์การค้า Thai Mart ซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐบาลบาห์เรนอนุโลมให้คนไทยเป็นพิเศษ เมื่อมาเช่าร้านในศูนย์การค้านี้ก็จะได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของธุรกิจ 100 เปอร์เซ็นต์
ท่านทูตอธิบายเพิ่มว่า ธรรมดาระบบการเข้ามาติดต่อในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะแถบนี้จะต้องมาในระบบสปอนเซอร์ หรือที่เรียกว่า 49 : 51 สมมติว่าเอาสบู่สปาเข้ามาขาย ก็ต้องหา Local Partner เป็นคนอาหรับซึ่งจะถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการขายสบู่ก็ต้องบวกต้นทุนเพิ่มเติมสำหรับแบ่งให้หุ้นส่วนท้องถิ่น แต่ Thai Mart เป็นข้อยกเว้นพิเศษ คนไทยจดทะเบียนการค้าได้เอง และศูนย์การค้าเปิดใหม่แห่งนี้ก็เป็นศูนย์รวมและแหล่งกระจายสินค้าไทยสู่ตะวันออกกลางที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งสร้างงานให้คนไทยได้อย่างต่ำๆ 1,500 คน เป็นโมเดลคล้าย Dragon City ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ของจีนในบาห์เรน
ที่พึ่งของชาวไทยพลัดถิ่น
คฤหาสน์หลังงามที่เป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมานามา อยู่ในเขตที่พักอาศัยของเมืองหลวงบาห์เรน ล้อมรอบด้วยบ้านพักอาศัยและคลินิกต่างๆ บ้านใหญ่โตหลังนี้เป็นของนักธุรกิจชาวบาห์เรนซึ่งตั้งใจสร้างเป็นที่พักอาศัย เมื่อสร้างและตกแต่งเสร็จ คณะทำงานชาวไทยได้มาเห็นที่นี่ จึงเจรจาเช่าเป็นสถานทูตตลอดมา โดยนำของตกแต่งจากเมืองไทยมาประดับสถานที่ตามความเหมาะสม
“การเลือกสถานทูต อันดับแรกเราต้องดูว่าอยู่ในที่ที่การคมนาคมสะดวกนะครับ สัญจรง่าย อีกอย่างคือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องดูว่าอยู่ในย่านที่ปลอดภัยหรือเปล่า อย่างบาห์เรนเขาให้ความสำคัญกับสถานทูตมาก ทุกสถานทูตและทำเนียบทูตมีตำรวจท้องถิ่นเฝ้าดูแล เพราะในตะวันออกกลางมีสถานการณ์ก่อการร้ายอยู่บ้าง แต่ที่นี่ไม่มีปัญหาอะไร แม้กระทั่งช่วงที่วุ่นวายอย่าง Arab Spring ก็ไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่
“เกณฑ์อีกอย่างที่ต้องดูคือเรื่องความคุ้มค่า ระหว่างเช่ากับซื้อเลย อะไรคุ้มค่าการลงทุนมากกว่า สถานทูตแถบตะวันออกกลางมักเป็นที่เช่า ข้อดีของการเช่าคือถ้าอยู่ไปในระยะหนึ่งแล้ว เราคิดว่ามีที่ใหม่เหมาะสมกว่าเพราะเมืองขยายตัว เราก็ไปอยู่ที่ใหม่ได้ด้วย ประเทศนี้เสรีหน่อยคือไม่ต้องอยู่รวมกัน”
อดีตกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย แถมเกร็ดว่า ที่ซาอุดีอาระเบีย ทุกสถานทูตต้องอยู่รวมกันเป็น Compound ที่ Riyadh เวลาใครจะไปไหนมาไหนก็ต้องไปทำเรื่องขอวีซ่าที่เดียวกันหมด เป็นทั้งที่ทำงาน เป็นสถานทูต แล้วก็เป็นบ้านพักด้วย อยู่กันเป็นวงเวียนขนาดใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองย่อมๆ ส่วนที่ Jeddah สถานกงสุลใหญ่เป็นที่เล็กๆ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทย
นอกจากเป็นจุดดูแลช่วยเหลือคนไทย สถานทูตกรุงมานามาก็เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำคัญของคนไทยในบาห์เรน เช่น พิธีถวายสักการะ จุดเทียนร้องเพลงถวายพระพรชัยมงคล จัดงานเฉลิมฉลองในวันสำคัญต่างๆ สระน้ำด้านหลังสถานทูตก็ใช้จัดพิธีลอยกระทงทุกปี และทุกวันเสาร์ห้องรับแขกของสถานทูตจะแปรสภาพเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กชื่อโรงเรียนก.ไก่ กระดานดำจะถูกเข็นออกมา เช่นเดียวกับโต๊ะที่วางเรียงเป็นหย่อม โดยผู้ปกครองชาวไทยผลัดเปลี่ยนมาช่วยกันสอนภาษาไทยให้เด็กๆ ที่เกิดและเติบโตไกลจากสยามประเทศ ซึ่งมีจำนวนราว 50 – 60 คน
ชั้นบนของสถานทูตเป็นส่วนออฟฟิศทำงานของคณะทูต โบนัสของที่นี่คือดาดฟ้าโล่งกว้างทิวทัศน์งดงาม มุมหนึ่งมองเห็นถนนใหญ่ที่พลุกพล่าน และอีกมุมเห็นชุมชนบ้านหลังอื่นๆ ที่เงียบสงบ งานส่วนใหญ่ของสถานทูตจัดขึ้นที่อาคารนี้ หรือจัดที่โรงแรมในกรณีกิจกรรมใหญ่ ส่วนตัวทำเนียบทูตที่อยู่แยกออกไป มักใช้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำคณะเล็กๆ หรือจัดงานในสวน
“ที่นี่มีกิจกรรมเยอะ กลุ่มประเทศอาเซียนก็มีจัดงาน ASEAN Day ร่วมกัน เราจัด Thai Festival ด้วย ของไทยๆ ทั้งหลายเขาชอบครับ ปีก่อนๆ มีกิจกรรมเขียนร่ม นวดไทย ผ้าไทย แกะสลักผลไม้ คนก็สนใจแล้วมาขอเรียน แต่ที่ดังที่สุดคืออาหารไทย บาห์เรนมีร้านอาหารไทยเยอะมาก เราเคยร่วมกับห้างสรรพสินค้า Lulu ซึ่งขายอาหารไทยอยู่แล้ว เขาก็จัดให้วันปรุงอาหารไทย ทดลองอาหารไทยรสนั้นรสนี้
“ต่อไป Thai Mart เปิดตัว มี Exhibition Area ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน ยิ่งจัดกิจกรรมได้หลายอย่าง ให้ทั้งผู้ประกอบการไทยและผลิตภัณฑ์ไทยเปิดตัวสู่สาธารณะได้มากขึ้น แทนที่จะจำกัดโดยมีบัตรเชิญ ก็เปิดให้เป็นสัปดาห์เทศกาลไทยเลย คล้ายๆ ที่ ททท. ทำแคมเปญ Eat Thai Visit Thai ให้ร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงจัดโปรโมชันพิเศษตลอดหนึ่งเดือน เราก็คงจะทำคล้ายๆ กัน”
ท่านทูตตบท้ายด้วยความหวัง ความสัมพันธ์ของสองประเทศที่อยู่ห่างไกลกันจะยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วยความร่วมมือของทั้งคนไทยและคนบาห์เรนที่รักเมืองไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://readthecloud.co/
คุณภัทรียา พัวพงศกร
บรรณาธิการและนักจัดทริปแห่ง The Cloud ที่สนใจตึกเก่า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวทีพอๆ กับการเดินทาง
คุณมณีนุช บุญเรือง
ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล